9krapalm.com

หัวเว่ย รุกสำรวจแนวปฏิบัติในการพัฒนาเครือข่าย F5G มุ่งเพิ่มผลิตภาพในอุตสาหกรรม

ในงานหัวเว่ย คอนเนกต์ ประจำปี 2565 หรือ HUAWEI CONNECT 2022 คุณคิม จิน (Kim Jin) รองประธานกลุ่มธุรกิจออปติคอลของหัวเว่ย (Huawei Optical Business Product Line) ได้กล่าวสุนทรพจน์หลักในหัวข้อ “วิวัฒนาการของเครือข่าย F5G พลิกโฉมผลิตภาพในอุตสาหกรรม” (F5G Evolution, Reshaping Industry Productivity) โดยเขาได้แสดงทรรศนะว่า เครือข่าย F5G จะค่อย ๆ พัฒนาไปสู่สามรูปแบบการใช้งานใหม่ และในโอกาสนี้ได้มีการเปิดตัวเกตเวย์ IoT อัจฉริยะแบบออปติคอลทั้งหมดเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมไอซีที รวมถึงอุปกรณ์ตรวจวัดความสั่นสะเทือนแบบไฟเบอร์ออปติกรุ่นใหม่ล่าสุด

นอกจากนี้ หัวเว่ยได้จัดการประชุมสุดยอดในหัวข้อ “แนวปฏิบัติในอุตสาหกรรม F5G สร้างการเชื่อมต่อยุคใหม่” (F5G Industry Practice, Building New-Gen Connectivity) โดยหัวเว่ยได้แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเกี่ยวกับ F5G ให้แก่ลูกค้าและพันธมิตรของหัวเว่ย

F5G คือเครือข่ายการสื่อสารประจำที่รุ่นที่ 5 จากการกำหนดนิยามโดยสถาบันมาตรฐานโทรคมนาคมแห่งยุโรป (ETSI) โดย ดร. แฟรงก์ เจ. เอฟเฟนเบอร์เกอร์ (Frank J. Effenberger) ผู้เสนอรายงาน ITU-T Q2/15 และรองประธานของ ETSI ISG F5G อธิบายว่า F5G ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการตอบสนองความต้องการส่งข้อมูลปริมาณมากและความเร็วสูง (Enhanced Fixed Broadband หรือ eFBB) การเชื่อมต่อไฟเบอร์เต็มรูปแบบ (Full-Fiber Connection หรือ FFC) และการรับประกันความน่าเชื่อถือ (Guaranteed Reliable Experience หรือ GRE) ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านไฟเบอร์ออปติก และตอนนี้ได้มีการนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

คุณคิม จิน กล่าวว่า จุดสนใจของการพัฒนา F5G ในอนาคตก็คือ การพลิกโฉมผลิตภาพในอุตสาหกรรมด้วยการเดินหน้าสำรวจรูปแบบการใช้งานใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยหัวเว่ยเชื่อว่า F5G จะพัฒนาไปสู่สามรูปแบบการใช้งานใหม่ ได้แก่ เครือข่ายออปติคอลที่คล่องแคล่วและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Agile Optical Network หรือ GAO) การเชื่อมต่อที่ยืดหยุ่นแบบเรียลไทม์ (Real-time Resilient Link หรือ RRL) รวมถึงการแสดงภาพและการตรวจวัดแบบออปติก (Optical Sensing & Visualization หรือ OSV) พร้อมกันนี้ เขาได้เรียกร้องให้พันธมิตรทั่วทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมร่วมกันส่งเสริมนวัตกรรมและการใช้งาน F5G

หัวเว่ยได้นำประสบการณ์จากอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา F5G โดยหัวเว่ยได้สร้างสรรค์โซลูชัน Green Intelligent OptiX Network และค้นพบรูปแบบการใช้งานมากกว่า 40 รูปแบบ ในกว่า 10 อุตสาหกรรม เช่น การขนส่ง พลังงาน การเงิน ภาครัฐ และสาธารณูปโภค

สำหรับในส่วนของอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Things หรือ IoT) หัวเว่ยได้เปิดตัวเกตเวย์ IoT อัจฉริยะแบบออปติคอลทั้งหมดเป็นครั้งแรกในโลกอย่าง OptiXstar T823E-T ที่มาพร้อมความน่าเชื่อถือในระดับสูง การกำหนดเวลาที่แม่นยำ และการเปิดกว้างอย่างชาญฉลาด โดยถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในสถานีไฟฟ้าย่อย การสื่อสารจากยานพาหนะสู่ทุกสิ่ง (vehicle-to-everything หรือ V2X) รวมถึงในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ

สำหรับเครือข่ายแคมปัสขององค์กรขนาดเล็กและขนาดย่อม หัวเว่ยได้เปิดตัวโซลูชัน MiniFTTO และผลิตภัณฑ์อีกหลายตัว

สำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) หัวเว่ยได้เปิดตัวโซลูชัน Fiber to the Room (FTTR) และ OTN P2MP เพื่อช่วยยกระดับการให้บริการสำหรับบ้านและองค์กร รวมถึงสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้เปิดตัวอุปกรณ์ตรวจวัดแบบไฟเบอร์ออปติกรุ่นใหม่ล่าสุด OptiXsense EF3000-F50 ซึ่งได้รับการขยายความสามารถนอกเหนือจากการตรวจสอบท่อส่งน้ำมันและก๊าซ ให้ครอบคลุมการปกป้องสถานที่สำคัญต่าง ๆ โดยมีศักยภาพสูงในการใช้งานในสนามบิน รถไฟ และมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่

คุณนิโคลัส หม่า (Nicholas Ma) ประธานกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ประจำเอเชียแปซิฟิกของหัวเว่ย กล่าวว่า “การปลดปล่อยศักยภาพเชิงดิจิทัลในเอเชียแปซิฟิกต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หัวเว่ยจะเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลด้วยการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วยเครือข่ายออปติกที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และก้าวขึ้นเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้”

Exit mobile version