9krapalm.com

หัวเว่ย คลาวด์ บุกเวทีโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส มุ่งปลดปล่อยพลังแห่งดิจิทัล

งานโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส ประจำปี 2566 (Mobile World Congress หรือ MWC 2023) เปิดฉากขึ้นแล้ว และในโอกาสนี้ หัวเว่ย คลาวด์ (Huawei Cloud) ได้มาร่วมแบ่งปันในฐานะผู้วางรากฐานระบบคลาวด์สำหรับโลกอัจฉริยะ โดยผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์และโซลูชันไอซีทีรายนี้เป็นส่วนสำคัญของงาน ด้วยการร่วมกล่าวสุนทรพจน์ ร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์ และร่วมกิจกรรมอื่น ๆ

คุณแจ็กเกอลีน สือ (Jacqueline Shi) ประธานฝ่ายการตลาดและการขายระดับโลกของหัวเว่ย คลาวด์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “ปลดปล่อยพลังแห่งดิจิทัลด้วยสรรพสิ่งในรูปแบบบริการ” (Unleash Digital with Everything as a Service) โดยเธอได้เปิดตัวบริการและโซลูชันใหม่มากมาย เช่น แลนดิ้ง โซน (Landing Zone) และคลาวด์ ออน คลาวด์ (Cloud on Cloud) พร้อมกับระบุว่า “เราหวังว่าจะส่งมอบบริการที่น่าเชื่อถือ ปลอดภัย และยั่งยืนให้แก่ลูกค้า พันธมิตร และนักพัฒนาของเรา โดยทำทุกอย่างบนคลาวด์”

สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มบทบาทในตลาด

คูเวิร์ส (KooVerse) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกของหัวเว่ย คลาวด์ ได้ส่งมอบประสบการณ์คลาวด์ระดับพรีเมียมด้วยเวลาแฝงเพียง 50 มิลลิวินาที ช่วยให้บริการที่ต้องการสเปคสูง เช่น เสียงและวิดีโอแบบเรียลไทม์ เกม และการเรียนออนไลน์ มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ จนถึงตอนนี้ คูเวิร์สให้บริการใน 78 โซนที่พร้อมใช้งาน (Availability Zone) ใน 29 ภูมิภาค และรองรับลูกค้าในกว่า 170 ประเทศและดินแดน

แลนดิ้ง โซน (Landing Zone) เป็นโซลูชันให้บริการผู้เช่าหลายรายที่มีความยั่งยืนและปรับขนาดได้ เพื่อให้บริการ B2B แบบอัตโนมัติสำหรับผู้ให้บริการเครือข่าย ตลอดจนนำเสนอการจัดการทรัพยากรบนคลาวด์แบบเลเยอร์ การออกแบบที่ต้องระบุอัตลักษณ์และได้รับอนุญาต ขอบเขตข้อมูล การตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อกำหนด และการจัดการทางการเงิน อีกทั้งยังช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถสร้างระบบการกำกับดูแลด้านไอทีแบบลีน (Lean) ที่ประสานเข้ากับบุคลากร การเงิน และสิ่งต่าง ๆ

คลาวด์ คอนเทนเนอร์ อินสแตนซ์ (Cloud Container Instance หรือ CCI) เป็นบริการคอนเทนเนอร์แบบไร้เซิร์ฟเวอร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถทำงานด้วยแอปพลิเคชันแบบคอนเทนเนอร์โดยไม่ต้องสร้างหรือจัดการเซิร์ฟเวอร์คลาวด์หรือทรัพยากรอื่น ๆ และแม้ว่าการรับส่งข้อมูลจะเพิ่มขึ้น 10 เท่าก็ไม่ส่งผลกระทบต่อบริการหรือระบบอีกต่อไป

โมเดล AI ผานกู่ (Pangu) รองรับการพัฒนายาและการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์วิทัศน์ (CV) โดยโมเดลผานกู่ได้รับการฝึกฝนล่วงหน้าด้วยพารามิเตอร์หลายแสนล้านตัว และได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการใช้งานมากกว่า 100 กรณี ในกว่า 10 อุตสาหกรรม เช่น การดูแลสุขภาพ ไฟฟ้า และเหมืองแร่

สร้างการเติบโตใหม่ไปพร้อมกับผู้ให้บริการเครือข่าย

เพื่อช่วยเหลือผู้ให้บริการเครือข่ายในการขยายไปสู่ตลาดระดับองค์กร หัวเว่ย คลาวด์ ได้เปิดตัวโซลูชันคลาวด์ ออน คลาวด์ (Cloud on Cloud) โดยผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถใช้ประโยชน์จากบริการ เทคโนโลยี ระบบนิเวศ และทรัพยากรการขายของหัวเว่ย คลาวด์ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ร่วมกับเครือข่ายชั้นนำของตนเอง เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล นอกจากนี้ ผู้ให้บริการเครือข่ายยังสามารถตั้งค่าการเข้าถึงบริการคลาวด์แบบครบวงจรทั้งการขายต่อ การสร้างแบรนด์คู่ และการสร้างแบรนด์เดี่ยวได้ตามความต้องการ

คิดแบบคลาวด์เนทีฟ ทำแบบคลาวด์เนทีฟ

คลาวด์ เนทีฟ คอมพิวติ้ง ฟาวน์เดชัน (Cloud Native Computing Foundation หรือ CNCF) และหัวเว่ย คลาวด์ ได้เปิดตัว คลาวด์ เนทีฟ อีลีท คลับ (Cloud Native Elite Club หรือ CNEC) สาขายุโรปภายในงานนี้ โดย CNEC เป็นชุมชนคลาวด์เนทีฟระดับโลกที่ร่วมกันก่อตั้งโดย CNCF, สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของจีน (CAICT) และหัวเว่ย คลาวด์ โดย CNEC ขยายสาขาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2564 และขณะนี้ได้มาถึงยุโรปแล้ว โดยได้รวบรวมนักคิดชั้นนำในอุตสาหกรรมและจุดประกายให้เกิดนวัตกรรมคลาวด์เนทีฟมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลในท้องถิ่น

เปิดกว้างและทำงานใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

หัวเว่ย คลาวด์ จัดพิธีมอบรางวัลสำหรับการแข่งขันนักพัฒนาหัวเว่ย คลาวด์ (Huawei Cloud Developer Competition) ในยุโรป ซึ่งเป็นแคมเปญเรือธงสำหรับนักพัฒนา นอกจากนี้ หัวเว่ย คลาวด์ จะลงนามในข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับผู้ให้บริการเครือข่ายและพันธมิตรหลายราย เช่น บริษัทเอ็กซ์แอล (XL) จากอินโดนีเซีย และบริษัททีไอเอ็ม (TIM) จากอิตาลี เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของบริษัทเหล่านี้

ปี 2565 นับเป็นปีแห่งความก้าวหน้าของหัวเว่ย คลาวด์ โดยในแง่ของการยอมรับในอุตสาหกรรม หัวเว่ย คลาวด์ ติดอันดับในรายงานเมจิก ควอแดรนท์ ของการ์ทเนอร์ (Gartner Magic Quadrant) ด้านบริการแพลตฟอร์มและโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ (Cloud Infrastructure and Platform Services หรือ CIPS) ในเดือนตุลาคม 2565 ส่วนในแง่โครงสร้างพื้นฐานระดับโลกนั้น หัวเว่ย คลาวด์ ได้เริ่มให้บริการในดินแดนใหม่ ๆ เช่น อินโดนีเซียและไอร์แลนด์ และจะตามอีกหลายแห่งในปีนี้ เช่น ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ

รับชมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวเว่ย คลาวด์ ได้ที่ https://www.huaweicloud.com/intl/en-us/

รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/2010856/Huawei.jpg
คำบรรยายภาพ – คุณแจ็กเกอลีน สือ กล่าวสุนทรพจน์ในนามของหัวเว่ย คลาวด์

Exit mobile version