9krapalm.com

สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ-สสส.-กรมสุขภาพจิต-ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย ร่วมจัดอบรมหลักสูตรฝึกใจให้เข้มแข็ง เสริมศักยภาพคนทำงานด้านสุขภาพ

สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ-สสส.-กรมสุขภาพจิต-ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย ร่วมจัดอบรมหลักสูตรฝึกใจให้เข้มแข็ง เสริมศักยภาพคนทำงานด้านสุขภาพเพื่อดูแลเยียวยาเด็กและชุมชนที่ได้รับผลกระทบความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทารา จ.สงขลา สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) หน่วยงานภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารโลกประจำประเทศไทย (World Bank Thailand) ร่วมกันจัดการอบรมหลักสูตรผู้ฝึกใจให้ชุมชนเข้มแข็งด้วยระบบสนับสนุนสุขภาพจิตและสิทธิมนุษยชนที่ยั่งยืน (TOT for Community Resilience, Mental Health and Human Rights Support) ระหว่างวันที่ 9 -12 พฤษภาคม 2565 ให้กับภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่ในระบบสุขภาพ และผู้ปฏิบัติงานในประเด็นการดูแลเยียวยาเด็กและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เผชิญกับความรุนแรงมาอย่างยาวนาน ข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ Deep South Watch (DSW) ตั้งแต่มกราคม 2547 – มีนาคม 2565 มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น 21,487 ครั้ง เสียชีวิต 7,344 ราย บาดเจ็บ 13,641 ราย ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพจิตของเด็กและคนในพื้นที่ กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการดังนี้ 1.การสร้างความเข้มแข็งการดูแลเยียวยาจิตใจเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง 2.พัฒนาสื่อความรู้การปฐมพยาบาลทางใจ (PFA e-learning tool) 3.การฟื้นฟูเยียวยาจิตใจผู้พิการและญาติผู้พิการ และ 4.การเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ กรณียุ่งยาก ซับซ้อน ซึ่งการดำเนินงานต่างๆ เครือข่าย คนทำงาน และเจ้าหน้าที่มีความสำคัญมาก จึงต้องขยายเครือข่ายคนทำงาน ที่เป็นคนในชุมชน เพื่อประสานความร่วมมือกับภาครัฐให้เกิดความเข้มแข็งในการดูแลสุขจิตของทุกคน
นพ.นพพร ตันติรังสี ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 กล่าวว่า ระบบส่งต่อ และการจัดการข้อมูลเพื่อเชื่อมต่อการรักษา โดยบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างองค์กร ในเขตพื้นที่รับผิดชอบงานสุขภาพจิตในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดระบบบริการที่มีประสิทธิภาพและประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพทั่วถึงและครอบคลุมทุกกลุ่มวัยเป็นสิ่งที่ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ให้ความสำคัญ
รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) กล่าวว่า สำหรับหลักสูตรการอบรมจะแบ่งการเรียนรู้จำนวน 4 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เกี่ยวกับประเด็นการดูแลเยียวยาเด็กและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรในพื้นที่ได้รับความรู้ในการเยียวยาประเมินอาการทางจิตเวช แก่ตนเองและผู้อื่นได้ ส่วนครั้งที่ 2 3 และ 4 เป็นการการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน การถอดบทเรียน การเรียนรู้ในพื้นที่ปฏิบัติงานจริงและการนำเสนอประสบการณ์ในการนำความรู้ไปใช้
รศ.ดร.นพ.นันทวัช กล่าวต่อว่า การจัดอบรมมีเป้าหมาย 1.เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถใช้เครื่องมือในการประเมินระดับสุขภาพจิตของเด็กและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ 2.เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถใช้เครื่องมือในการเยียวยาสุขภาพจิตของเด็กและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ 3.เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถเยียวยาสุขภาพจิตของตนเองได้ และ4.เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถออกแบบกระบวนการดูแลเด็กและชุมชนได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้

Exit mobile version