Lazada

ราชกรรมาธิการอัลอูลาสนับสนุนการวิจัย ‘ว่าวทะเลทราย’ ไขความกระจ่างกับดักสัตว์โบราณขนาดใหญ่ในยุคหิน

ผลการศึกษาที่ได้ช่วยขยายคลังข้อมูลและขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของกับดักสัตว์ขนาดยักษ์ ซึ่งเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ที่สุดที่มนุษย์ยุคโบราณสร้างขึ้น
สัตว์ถูกไล่ต้อนไปตามกำแพงหินระยะทางหลายร้อยเมตรที่ไปบรรจบกันตรงหน้าผาหรือหลุมพรางดักจับ
ราชกรรมาธิการอัลอูลาเดินหน้าสนับสนุนการค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมของภูมิภาคผ่านการวิจัยดังกล่าว เพื่อเป็นรากฐานทางปัญญาให้กับสถาบันราชอาณาจักร ( Kingdoms Institute) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางด้านโบราณคดีของอัลอูลา
งานวิจัยฉบับใหม่เกี่ยวกับกับดักสัตว์โบราณที่สร้างขึ้นในยุคหิน หรือที่รู้จักในชื่อ ‘ว่าวทะเลทราย’ (Desert Kites) ผ่านการพิจารณากลั่นกรองและประเมินคุณภาพทางวิชาการแล้ว โดยงานวิจัยเผยให้เห็นถึงวิธีการล่าสัตว์ป่าในช่วงปลายยุคหินใหม่ ซึ่งมีความซับซ้อนและครอบคลุมเป็นบริเวณกว้าง ทั้งยังแสดงถึงความเฉลียวฉลาดและลักษณะการทำงานร่วมกันของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ในอดีต

รับชมข่าวประชาสัมพันธ์ในรูปแบบมัลติมีเดียได้ที่

https://www.multivu.com/players/uk/9102251-research-supported-by-royal-commission-alula-insights-into-ancient-animal-traps/

โครงสร้างเหล่านี้ถูกเรียกว่า ‘ว่าว’ โดยนักบินในช่วงทศวรรษที่ 1920 เนื่องจากเมื่อสังเกตจากด้านบน รูปแบบของโครงสร้างเหล่านี้ชวนให้นึกถึงว่าวเด็กสมัยก่อนที่มีหางยาวสะบัดพลิ้ว อย่างไรก็ตาม จุดกำเนิดและหน้าที่ของโครงสร้างขนาดใหญ่โตมโหฬารเหล่านี้ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่

ดร.เรมี คราสสาร์ด (Dr Remy Crassard) ผู้เชี่ยวชาญด้านว่าวทะเลทรายในระดับแนวหน้า กล่าวว่า ว่าวทะเลทรายคือโครงสร้างโบราณที่ใหญ่ที่สุดของยุคนั้น ว่าวที่เก่าแก่ที่สุดทางตอนใต้ของจอร์แดนมีอายุถึง 7000 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนว่าวที่เพิ่งค้นพบใหม่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอาระเบียยังคงอยู่ระหว่างการกำหนดอายุ แต่เชื่อว่าน่าจะอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากปลายยุคหินใหม่เป็นยุคสำริด (5000-2000 ปีก่อนคริสตกาล) ดร.คราสสาร์ดเป็นนักวิจัยในสังกัดศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติของฝรั่งเศส (CNRS) อีกทั้งยังเป็นผู้อำนวยการร่วมของโครงการโบราณคดี เคย์บาร์ ล็องก์ ดูเร (Khaybar Longue Duree Archaeological Project) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากราชกรรมาธิการอัลอูลา (Royal Commission for AlUla: RCU) และพันธมิตรอย่าง สำนักงานเพื่อการพัฒนาอัลอูลาของฝรั่งเศส (Afalula) ดร.คราสสาร์ดประมาณการว่า เมื่อ 20 ปีก่อนมีการค้นพบว่าวทะเลทรายประมาณ 700-800 แห่ง เทียบกับตัวเลขปัจจุบันที่ประมาณ 6,500 แห่ง และยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ

จากการวิจัยล่าสุดที่ดำเนินการในซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน อาร์เมเนีย และคาซัคสถาน ทีมของดร.คราสสาร์ดยืนยันว่า ว่าวถูกใช้สำหรับการล่าสัตว์ ไม่ใช่เพื่อการเลี้ยงสัตว์ ว่าวทะเลทรายนับ “เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีการดักจับสัตว์ของมนุษย์” และ “การพัฒนากับดักขนาดใหญ่เหล่านี้สร้างผลกระทบต่อภูมิทัศน์ของมนุษย์อย่างน่าทึ่ง” ว่าวอาจนำไปสู่การล่าในระดับที่สูงกว่าการยังชีพ ซึ่งสัมพันธ์กับ “พฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารและโครงสร้างทางสังคม” สัตว์ป่าบางชนิด เช่น ละมั่ง อาจเปลี่ยนแปลงเส้นทางการอพยพของพวกมัน และสัตว์ชนิดอื่น ๆ อาจถูกล่าจนสูญพันธุ์

ในซาอุดีอาระเบีย งานวิจัยที่นำโดยคุณรีเบกกา เรปเปอร์ (Rebecca Repper) จากทีมโบราณคดีทางอากาศในอัลอูลาของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก RCU สำรวจพบว่าวที่ยังไม่เคยค้นพบมาก่อน 207 แห่งในเขตอัลอูลา ว่าวเหล่านี้ถูกค้นพบมากเป็นพิเศษบน Harrat ‘Uwayrid ซึ่งเป็นพื้นที่สูงที่มีภูเขาไฟที่ดับแล้ว ทีมวิจัยพบว่า ว่าวรูปตัว V เป็นรูปแบบที่พบมากที่สุดในพื้นที่วิจัย ต่างกับว่าวที่พบในพื้นที่อื่น ๆ ในภูมิภาคแถบนี้ ทั้งนี้ นักโบราณคดีมักอธิบายลักษณะของว่าวเป็นรูปทรงต่าง ๆ เช่น รูปตัว V, ถุงเท้า, ขวานเล็ก และรูปตัว W

ว่าวทั้งหมดในภูมิภาคนี้ ไม่ว่ารูปทรงใด จะมีแนวกำแพงหินเตี้ย ๆ ที่ลู่เข้าหากับดักสัตว์ทรงกรวยซึ่งไปบรรจบกับหลุมหรือหน้าผา โดยเฉลี่ยแล้ว เส้นทางของว่าวที่พบในอัลอูลามีความยาวประมาณ 200 เมตร อย่างไรก็ตาม ว่าวที่พบที่อื่นอาจมีระยะทางยาวถึงหลายกิโลเมตร น.ส.เรปเปอร์กล่าวว่า ความยาวที่สั้นกว่านั้นแสดงถึงความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ของนักล่า ซึ่งทำให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะวางกับดักในพื้นที่ที่ภูมิประเทศจำกัดการเคลื่อนไหวของสัตว์โดยธรรมชาติ การวางกับดักเหล่านี้ยังชี้ให้เห็นว่า นักล่ามีความรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเหยื่อเป็นอย่างดีอีกด้วย

การศึกษาวิจัยพบว่า ว่าวที่พบในภูมิภาคอัลอูลามักจะเป็นรูปทรงกรวยที่ไล่ต้อนสัตว์ให้ตกลงไปยังหน้าผา ต่างจากว่าวที่อื่นที่มักจะจบลงในหลุมพราง ซึ่งสัตว์หลายร้อยตัวอาจถูกฆ่าระหว่างการล่าเพียงครั้งเดียว ความแตกต่างนี้อาจเป็นการปรับตัวให้เข้ากับภูมิศาสตร์ท้องถิ่น หรือเป็นวิวัฒนาการของการล่าสัตว์โดยใช้กับดัก

การวิจัยของทีมนักโบราณคดีทางอากาศในภูมิภาคนี้ช่วยเสริมการทำงานของดร.คราสสาร์ดให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดร.คราสสาร์ดเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับว่าวของเคย์บาร์ในการศึกษาเรื่องลำดับเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กันของประเภทว่าว ซึ่งนำโดยดร.โอลิวิเยร์ บาร์ก (Dr Olivier Barge) จาก CNRS และได้รับการตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งนี้ในเคย์บาร์ พบว่าวแตกต่างกันอยู่สองประเภท ได้แก่ ว่าวทะเลทรายที่มีรูปทรงตามแบบแผน และว่าวรูปแบบแรกเริ่ม (Proto-kites) ที่ยังไม่สมบูรณ์ โดยไม่มีกับดักหรือหลุมล้อมรอบ ทีมวิจัยชี้ว่า ว่าวรูปแบบแรกเริ่มอาจเกิดก่อนว่าวทะเลทราย ว่าวที่มีความซับซ้อนมากขึ้นอาจสะท้อนถึงเทคนิคการล่าที่ฉวยโอกาสน้อยลง และมีรูปแบบที่เป็นทางการมากขึ้น

ดร.รีเบกกา ฟูต ( Dr Rebecca Foote) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยโบราณคดีและมรดกทางวัฒนธรรมของ RCU กล่าวว่า “การศึกษาเหล่านี้ช่วยเพิ่มความเข้าใจของเราเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมอันรุ่มรวยของชาวอาระเบียทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งในกรณีนี้คือการให้ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับพิธีกรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ การศึกษาล่าสุดขยายต่อยอดจากการค้นพบก่อนหน้านี้ของเราเกี่ยวกับยุคหินใหม่ ซึ่งรวมถึงการสร้างโครงสร้างพิธีกรรมขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Mustatils ขณะที่เราเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงของงานภาคสนามทางโบราณคดีที่ได้รับการสนับสนุนจาก RCU พร้อมด้วยทีมงานจากราชอาณาจักรซาอุฯ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เยอรมนี และอื่น ๆ เราตั้งตารอการค้นพบเชิงลึกอีกมากมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานอันยิ่งใหญ่ของเราในการสร้างศูนย์กลางการวิจัยและการอนุรักษ์ทางโบราณคดีในอัลอูลา”

ศูนย์กลางดังกล่าวคือ สถาบันราชอาณาจักร (Kingdoms Institute) ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทเป็นองค์กรวิจัย และมีแผนที่จะเปิดสถานที่ดำเนินงานที่อัลอูลาภายในปี 2573 งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก RCU ทั้งในและรอบ ๆ อัลอูลากำลังเพิ่มฐานความรู้ให้กับสถาบันราชอาณาจักร ทั้งนี้ RCU คาดว่าสถาบันแห่งนี้จะกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญเมื่อถึงเวลาที่อัลอูลาเปิดรับผู้มาเยือน 2 ล้านคนต่อปีในปี 2578

ดร.อิงกริด เปริสเซ วาเลโร ( Dr Ingrid Perisse Valero) ผู้อำนวยการฝ่ายโบราณคดีและมรดกของ Afalula กล่าวว่า “ว่าวที่ถูกค้นพบใหม่ในอัลอูลาและเคย์บาร์เปิดมุมมองที่สำคัญเกี่ยวกับจุดกำเนิด การพัฒนา และการแพร่กระจายของโครงสร้างการล่าสัตว์เหล่านี้ ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ การวิจัยที่ทีมนานาชาติเหล่านี้ค้นพบ ซึ่งรวมถึงผลงานของดร.เรมี คราสสาร์ด ผู้เชี่ยวชาญของฝรั่งเศสนั้น ได้รวมผลการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมและงานภาคสนาม ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เราทราบหลักการทำงานและกำหนดอายุของว่าวได้อย่างแม่นยำ โดยการวิเคราะห์วัตถุที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างเหล่านี้ ทั้งนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การวิจัยที่ดำเนินอยู่นี้จะเป็นหมุดหมายของการศึกษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับยุคก่อนประวัติศาสตร์”

อ่านผลการค้นพบโดยละเอียดได้จากงานวิจัยล่าสุด ดังต่อไปนี้:

‘The Use of Desert Kites as Hunting Mega Traps: Functional Evidence and Potential Impacts on Socioeconomic and Ecological Spheres’ by Remy Crassard, et al, published in Journal of World Prehistory. Project sponsored by CNRS and French National Research Agency.
‘Kites of AlUla County and the ?arrat ‘Uwayri?, Saudi Arabia’ by Rebecca Repper, et al, published in Arabian Archaeology and Epigraphy. Project sponsored by RCU.
‘New Arabian desert kites and potential proto-kites extend the global distribution of hunting mega-traps’ by Olivier Barge, et al, published in Journal of Archaeological Science: Reports. Khaybar data in this article results from the Khaybar Longue Duree Archaeological Project.
ดาวน์โหลดเอกสารสรุปข้อมูลสำคัญ และแผนภาพโครงร่างของว่าวทะเลทราย ได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/13DjahX1JKFkiSY2DJvXVE6i5CXlhMwC6

เกี่ยวกับราชกรรมาธิการอัลอูลา

ราชกรรมาธิการอัลอูลา (Royal Commission for AlUla: RCU) ก่อตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาในเดือนกรกฎาคมปี 2560 เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเมืองอัลอูลาในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ แผนการระยะยาวของราชกรรมาธิการอัลอูลาคือการพัฒนาเศรษฐกิจและเมืองด้วยความระมัดระวัง รับผิดชอบ และยั่งยืน พร้อมกับอนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมให้เมืองอัลอูลาเป็นจุดหมายปลายทางการอยู่อาศัย ทำงาน และท่องเที่ยว เป้าหมายเหล่านี้ก่อให้เกิดโครงการมากมายทั้งในด้านโบราณคดี การท่องเที่ยว การศึกษา ศิลปะ ธรรมชาติ และอีกมากมาย ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการตอบสนองต่อความหลากหลายทางเศรษฐกิจ การสร้างพลังให้กับชุมชน และการอนุรักษ์มรดกตกทอดตามวิสัยทัศน์ปี 2573 หรือ Vision 2030 ของซาอุดีอาระเบีย

รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/1926110/Royal_Commission_for_AlUla.jpg
โลโก้ – https://mma.prnewswire.com/media/1926109/Royal_Commission_AlUla_Logo.jpg