9krapalm.com

รักบ้านเกิด ร่วมกับ EXIM BANK สร้างผู้ส่งออกวิสาหกิจชุมชน จ.น่าน สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด ผู้สร้างสรรค์สื่อดิจิทัลและธุรกิจเกษตรสร้างสรรค์สู่ความยั่งยืน ร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) จัดกิจกรรม CSR ภายใต้โครงการ “EXIM เพื่อสิ่งแวดล้อม” โดยมี คุณจารุวรรณ จิณเสน กรรมการผู้จัดการ โกโก้ วัลเล่ย์ รีสอร์ท เครือข่ายเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน เข้ารับการส่งเสริมความรู้และแนวคิดในการบริหารธุรกิจยุคใหม่ ที่ต้องคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ณ โกโก้ วัลเล่ย์ รีสอร์ท
โดยในกิจกรรมดังกล่าว คุณณัฐวุฒิ ปิ่นทองคำ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด ร่วมแชร์แนวคิดการบริหารธุรกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืน กล่าวว่า ความยั่งยืนสามารถมองผ่าน 3 ด้าน คือเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระแสปัจจุบันที่ทั่วโลกให้ความสนใจคือ”เกษตรวิถีอินทรีย์” สำหรับประเทศไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรมเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ แต่เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถบริโภคอาหารอย่างมีคุณภาพ และช่วยกันลดปัญหาขยะเหลือทิ้งให้ได้มากที่สุดด้วย อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือการสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่โดดเด่น ด้วยวิธีการสร้างเรื่องราวเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของเรา เพราะเชื่อว่าสินค้าของประเทศไทยสามารถพัฒนาต่อยอดระดับโลกได้
ทั้งนี้ ทางรักบ้านเกิดรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับทั้ง 3 ภาคส่วน ได้แก่ รัฐ เอกชน และประชาสังคม จนเกิดเป็นโครงการดังกล่าวฯ ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์หลักของรักบ้านเกิดคือส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรไทยเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน และการร่วมมือกับ EXIM BANK ด้านการขับเคลื่อนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจไทยปรับตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมถึงแข่งขันได้ในตลาดการค้าโลกยุคใหม่
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ร่วมแชร์แนวคิดในการบริหารธุรกิจยุคใหม่ ว่า สมการของธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน ประกอบด้วยตัวแปร 3P ได้แก่ People หรือ คน ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะนำพาทุกองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ผู้บริหารยุคใหม่จำเป็นต้องสร้างคนและทีมที่แข็งแกร่ง โดยให้ความสำคัญกับการตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของบุคลากรในองค์กร ลูกค้า ไปจนถึง Stakeholders ตลอดจนสังคมและชุมชน เราเริ่มต้นจากการดูแลให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความก้าวหน้าในอาชีพ พร้อมที่จะทำงาน ให้บริการ ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ต่อมาเราจึงขยายผลไปสู่ Planet ได้แก่ โลก ผู้บริโภคในปัจจุบันมักจะเลือกใช้สินค้าและบริการโดยพิจารณาจากคุณค่าของแบรนด์ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภคและสังคมโลก ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องไม่ละเลยที่จะรักษาและดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้บริโภคด้วยเช่นกัน สินค้ารักษ์โลกจึงเป็นเทรนด์ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดการค้ายุคใหม่ สุดท้าย การพัฒนาในมิติของ “คน” และ “สิ่งแวดล้อมโลก” จะสร้าง Profit หรือกำไรที่ทำให้องค์กรอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ และนี่คือ เส้นทางการเติบโตของ EXIM BANK ภายใต้การดำเนินบทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย” ที่มุ่งสร้าง Empathic Workplace และ Sustainable Development ขององค์กรและโลก จนสามารถพลิกฟื้นผลการดำเนินงานจากขาดทุนกว่า 1,340 ล้านบาทในปี 2563 เป็นกำไรได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี
ดร.รักษ์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยมีความ “เก่งและดี” ไม่แพ้ชาติใดในโลก สะท้อนได้จากสินค้าไทยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในตลาดโลก โดยเฉพาะในด้านคุณภาพที่ได้มาตรฐานระดับสากล อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อาจต้องเพิ่มเติม คือ “เสน่ห์” ซึ่งจะเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างสรรค์การเล่าเรื่อง (Storytelling) เพื่อนำเสนอสินค้าได้อย่างน่าสนใจ และบอกเล่าว่าสินค้านั้นสร้างคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า โดยไม่เน้นการแข่งขันด้านราคา ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างธุรกิจที่มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น
นอกจากการบรรยายและสร้างแรงบันดาลใจจากคุณณัฐวุฒิและ ดร.รักษ์ ยังมีการบรรยายให้ความรู้ และสาธิตการทำถ่านชีวมวลจากเปลือกโกโก้ โดยคุณประธาน พยอม นักวิชาการพลังงานชำนาญการ สำนักงานพลังงาน จังหวัดน่าน รวมถึงการบรรยายและให้ความรู้ในหัวข้อ “การบริหารธุรกิจชุมชนอย่างยั่งยืนตาม BCG โมเดล” โดยคุณยุทธพงศ์ มีแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า EXIM BANK และคุณปริยะดา วิสุทธิแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยมุ่งหวังส่งเสริมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรมเพื่อผลักดันพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สู่การบริหารธุรกิจชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

Exit mobile version