9krapalm.com

ม.พะเยา จัดแสดงดนตรี Symphony Orchestra ดุริยศิลป์ถิ่นพยาว : ไหว้สาพญางำเมือง

ม.พะเยา ร่วมอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ จัดแสดงดนตรี Symphony Orchestra ดุริยศิลป์ถิ่นพยาว : ไหว้สาพญางำเมือง

วันศุกร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2565 มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นเจ้าภาพร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมการแสดงดนตรี Symphony Orchestra ดุริยศิลป์ถิ่นพยาว : ไหว้สาพญางำเมือง ภายใต้โครงการวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน เพื่อสื่อสารการบูรณาการศิลปวัฒนธรรมแก่สังคมด้วยการแสดงดนตรีผสมผสานที่มีอัตลักษณ์และบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองพะเยา เกิดนวัตกรรมดนตรีพื้นเมืองและศิลปะการแสดงร่วมสมัย โดยได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร และผู้นำท้องถิ่นและชุมชนเมืองพะเยา ร่วมรับชมการแสดง ซึ่งจัดขึ้น ณ ลานข่วงวัฒนธรรมพญางำเมือง ริมกว๊านพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา

ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมชมการแสดงในครั้งนี้ว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จังหวัดพะเยาร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยาและภาคีเครือข่าย ได้มีโอกาสจัดการแสดงดนตรี Symphony Orchestra ดุริยศิลป์ถิ่นพยาว : ไหว้สาพญางำเมือง ซึ่งจังหวัดพะเยา นั้น เป็นจังหวัดในกลุ่มล้านนาตะวันออก มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 มีชื่อเดิมว่า เมืองภูกามยาว หรือ พยาว มีความรุ่งเรืองในยุคสมัยพญางำเมือง บูรพกษัตริย์องค์ที่ 9 มีศิลปะเก่าแก่และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะ และได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดที่ 72 ของประเทศไทย ในปี 2520 ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากความโดดเด่นของพื้นที่และชุมชน ด้านความรู้ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างสรรค์และพัฒนาต่อยอด ยกระดับองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์เชิงพาณิชย์ ในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการดำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมของชาติ การทำนุบำรุง อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานเอกลักษณ์ความเป็นไทย สร้างสรรค์และพัฒนาให้เป็นสมบัติของชาติ และในปี 2565 ภายใต้ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งจังหวัดพะเยา มหาวิทยาลัยพะเยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เทศบาลเมืองพะเยา และชุมชนพะเยาได้ร่วมมือกันผลักดันให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ (Phayao Learning Space) เชื่อมโยงต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดพะเยาให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ Phayao Learning City ของ UNESCO เครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก , UNESCO Global Network of Learning Cities : UGNLC เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 การจัดการแสดงดนตรี Symphony Orchestra ดุริยศิลป์ถิ่นพยาว : ไหว้สาพญางำเมือง ในครั้งนี้ ที่จะช่วยสร้างสุนทรียะและเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้เรื่องดนตรีในอีกรูปแบบหนึ่ง ตลอดจนเป็นการเผยแพร่บทเพลงที่เกี่ยวกับจังหวัดพะเยาให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ พร้อมด้วยผู้บริหาร บุคลากร และนิสิต เข้าร่วมชมการแสดงกิจกรรมดังกล่าว โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ได้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เป็นเป้าหมายหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่ของจังหวัดพะเยา ตามแนวทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัยในกลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น (Area Based University) โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน การนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า มาเป็นองค์ความรู้ทางด้านวัฒนธรรมของจังหวัดพะเยา เพิ่มมูลค่าด้วยการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ภายใต้กรอบแนวคิด “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน” กิจกรรมการแสดงดนตรี Symphony Orchestra ดุริยศิลป์ถิ่นพยาว : ไหว้สาพญางำเมือง ภายใต้โครงการวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อ สื่อสารการบูรณาการศิลปวัฒนธรรมแก่สังคมด้วยการแสดงดนตรีผสมผสานที่มีอัตลักษณ์และบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองพะเยา เกิดนวัตกรรมดนตรีพื้นเมืองและศิลปะการแสดงร่วมสมัย อีกทั้งเป็นการยกระดับกิจกรรมทางวัฒนธรรมพื้นเมืองของพะเยา พัฒนาสู่ความเป็นสากลต่อไป

กิจกรรมครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ “ธัชชา” และเป็นการรวมตัวการแสดงของบุคลากรและนิสิตของมหาวิทยาลัยพะเยา โดยเฉพาะคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ วิทยาลัยการศึกษา และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา ประกอบด้วยการแสดง 4 ชุด ได้แก่ อารยะเมืองพยาว สายสัมพันธ์วัฒนธรรมลุ่มน้ำอิง ยลวิถีเมืองพะเยา และ ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนตามปณิธานของมหาวิทยาลัยพะเยา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานโดยกล่าวว่า จังหวัดพะเยา มีประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนมาถึงปัจจุบัน อายุกว่า 900 ปี มีผู้คนจากชาติพันธุ์หลากหลายที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ ภูเขา ป่าไม้ แหล่งน้ำ และที่ราบเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม จึงส่งผลให้จังหวัดพะเยามีทุนทางวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย อาทิ โบราณวัตถุหินทราย ศิลปะล้านนา ความเชื่อ พิธีกรรม ประเพณีท้องถิ่น ดนตรีและการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีความเป็นอัตลักษณ์ที่แสดงถึงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในแบบของตนเอง อีกทั้งมีธรรมชาติที่สวยงาม คือ กว๊านพะเยา ที่เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ มีดอยหนอกทอดตัวยาวเป็นฉากหลัง นับว่าเป็นทัศนียภาพที่งดงาม ดังบทเพลงกว๊านพะเยา ที่เราคุ้นหู

การแสดงดนตรี Symphony Orchestra ดุริยศิลป์ถิ่นพยาว : ไหว้สาพญางำเมือง ในวันนี้ เป็นการจัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม โดยใช้เพลงเก่าของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ นำมาเรียบเรียงใหม่ พร้อมบรรเลงผ่านวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้า มีบทเพลงที่ไพเราะในบรรยากาศที่สวยงาม รับลมเย็นจากกว๊านพะเยา เป็นการรังสรรค์ท่วงทำนองคีตศิลป์กระตุ้นให้เกิดสิ่งใหม่บนรากฐานสิ่งเก่าผ่านบทเพลงและท่วงทำนองอันเป็นเอกลักษณ์ ด้านผลงานศิลปะทางวัฒนธรรมกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และต่อยอดต่อไป

Exit mobile version