9krapalm.com

ผู้เชี่ยวชาญจากม.ซีอาน เจียวทง-ลิเวอร์พูล เผยอียูและจีนมุ่งมั่นร่วมมือกันในการกำกับดูแลสภาพภูมิอากาศ

ดร. อีแวนส์ ฟานูลิส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยซีอาน เจียวทง-ลิเวอร์พูล (XJTLU) จะกล่าวถึงการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของอียู ในการนำเสนอเกี่ยวกับลำดับความสำคัญด้านนวัตกรรมของอียู ที่งานประชุมสุดยอด Global Summit on Manufacturing Outsourcing ครั้งที่ 3 ในวันที่ 19-20 ก.ค. 2564 ณ เมืองฉางชุน ประเทศจีน

“จีนและอียูได้ร่วมกันพัฒนาโครงการและผนึกกำลังกันในด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และสิ่งแวดล้อมจนถึงปัจจุบัน” ดร. ฟานูลิส กล่าว “รัฐมนตรีและบุคลากรระดับสูงได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในกรอบความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างอียูกับจีน ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในประเด็นสำคัญเหล่านี้”

“ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันในการกำกับดูแลสภาพภูมิอากาศโลก ด้วยเหตุนี้ จีนและอียูจึงตกลงที่จะให้คำมั่นร่วมกันในข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างอียูและจีนได้รับการเน้นย้ำเป็นพิเศษในวาระยุทธศาสตร์ปี 2563 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ลงมติในปี 2556 ระหว่างพันธมิตรทั้งสองฝ่ายที่กำหนดความร่วมมือในด้านนโยบายที่แตกต่างกัน

“สำหรับบริบทของการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ระหว่างอียูและจีน ทางอียูได้มอบทุนสนับสนุนโครงการวิจัย นวัตกรรม และการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว” ดร. ฟานูลิส กล่าว

“ผมคาดการณ์ว่า อียูและจีนจะเดินหน้าทำงานอย่างใกล้ชิดและคิดค้นโซลูชันเชิงนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแสวงหาความคิดริเริ่มร่วมกันในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การศึกษาและสาธารณสุข เนื่องด้วยวิกฤตการระบาดใหญ่ของโควิด-19”

นอกจากนี้ ในการนำเสนอดังกล่าว ดร. ฟานูลิส จะกล่าวถึงนโยบายการค้าและอุตสาหกรรมของอียู การลงทุนของอียูในด้านการวิจัยและนวัตกรรม และความร่วมมือระหว่างอียูกับจีนในขอบเขตสำคัญอื่น ๆ

จีนและอียูได้ร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตร การจัดการน้ำ สุขภาพ การศึกษา การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน นโยบายด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นประเด็นสำคัญ ตามที่อียูได้ประกาศแผน “Fit for 55” ที่ครอบคลุมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารจัดการของอียูเป็นผู้เปิดเผยแผนฉบับดังกล่าว โดยกำหนดรายละเอียดให้กับประเทศอียู 27 แห่ง เกี่ยวกับแนวทางการบรรลุเป้าหมายร่วมกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิลง 55% ภายในปี 2573 โดยเทียบจากระดับของปี 2533 และเป้าหมายสูงสุดคือการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

การประชุมสุดยอดครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของเมืองฉางชุนและมณฑลจี๋หลิน รวมถึงพันธมิตรต่าง ๆ ได้แก่ องค์การการค้าโลก (WTO) องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โฟล์คสวาเกน บีเอ็มดับเบิ้ลยู ไฟเซอร์ และไป่ตู้

Exit mobile version