9krapalm.com

การแก้ไขปัญหาขยะอาหารในเอเชีย – ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจะเป็นผู้นำในการลดขยะอาหารได้อย่างไร

บทความโดย นายฟาบิโอ ทิวิติ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป  บริษัท อินฟอร์ อาเชียน-อินเดีย 

รายงานฉบับใหม่ของ Food Waste Index Report ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีมีอาหารกว่า 1.3 พันล้านตันถูกทิ้งเป็นขยะ ซึ่งคิดเป็นประมาณเกือบหนึ่งในสามของอาหารที่ผลิตได้ทั้งหมด โดยเป็นขยะอาหารจากครัวเรือนสูงถึง 60% ของจำนวนทั้งหมด  และที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้น คือ ขยะอาหารทั่วโลกมากกว่าครึ่งเกิดขึ้นในเอเชียนี่เอง

ตัวเลขของขยะอาหารเป็นเรื่องที่น่าตกใจเป็นอย่างมาก  เพราะขยะอาหารในทุกวันนี้ได้กลายเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกใหญ่เป็นอันดับสาม ทำให้ระบบอาหารทั่วโลกกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศมากที่สุด และปริมาณการสูญเสียอาหารก็เป็นเรื่องจริงที่ยากจะทำใจยอมรับได้

สำหรับประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า มีปริมาณขยะอาหารประมาณ 78.69 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และยังขาดการติดตามและจัดเก็บข้อมูลด้านการสูญเสียและขยะอาหารอย่างเป็นระบบ  กรมควบคุมมลพิษจึงร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้โครงการการจัดการของเสียแบบผสมผสานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก (Integrated Waste Management for GHG Reduction) จัดทำ “การจัดทำแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหารของประเทศไทย (ผู้จำหน่ายอาหาร ผู้ประกอบอาหาร และผู้บริโภค)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนสถานการณ์การจัดการขยะอาหารในประเทศไทย นำเสนอดัชนีขยะอาหาร (Food Waste Index) รวมถึงความคิดเห็นในการจัดทำแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหารของประเทศไทย พ.ศ. 2564–2573 ที่ตั้งเป้าให้ลดปริมาณขยะอาหารลงร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2568 และร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2573

นอกจากนี้ จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยระบุว่า สํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ยังให้เงินอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาในการสํารวจปริมาณและที่มาของขยะอาหารและแนวทางในการลดขยะอาหาร โดยมีโรงแรมหลายแห่งเข้าร่วมโครงการ และมอบหมายให้องค์กรอิสระ Scholars of Sustenance (SOS) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากําไรที่มีระบบในการขนส่งอาหารที่ได้มาตรฐาน ทำหน้าที่กระจายอาหารส่วนเกินจากโรงแรม ภัตตาคาร ร้านค้าปลีก ไปยังสถานสงเคราะห์หรือชุมชนที่ต้องการ

โชคดีที่ยังมีการรับรู้ถึงปัญหาเร่งด่วนนี้  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายหน่วยงานทั่วภูมิภาคเอเชียได้พยายามอย่างมากที่จะลดขยะอาหาร โดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องวันที่ควรบริโภคก่อน (best-before date) ซึ่งเป็นช่วงที่สินค้าจะมีคุณภาพดีที่สุด กับวันที่สินค้าหมดอายุ (use-by date)  อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว และส่งผลกระทบต่อเนื่องทั่วทั้งภาคส่วน ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นผู้นำ โดยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์อัจฉริยะ เพื่อสกัดกั้นปัญหาตั้งแต่ต้นทาง

รายละเอียดทุกอย่างปรากฎอยู่บนฉลาก

ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ต้องแก้ไข คือ ความสับสนของผู้บริโภคเกี่ยวกับวันที่ที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์  ในประเทศเกาหลี ผลสำรวจที่จัดทำโดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพแห่งเกาหลี (Korea Health Industry Development Institute) พบว่า 56.4% ของผู้บริโภค จะโยนอาหารทิ้งก่อนเวลาอันควร โดยดูจาก “ควรบริโภคภายในวัน” (“sell-by” dates) ซึ่งระบุว่าของชิ้นนั้นจะวางอยู่ในร้านได้ไม่เกินวันที่ระบุข้างกล่อง แทนที่จะดู “วันหมดอายุ” (“use-by” dates)  เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาเนื่องจากการระบุวันสำหรับร้านค้าแบบแรกมักจะทำให้เข้าใจผิด เพราะโดยปกติแล้วจะหมายถึงอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ที่ 60-70% เท่านั้น  ด้วยเหตุนี้ กระทรวงความปลอดภัยด้านอาหารและยาของเกาหลีจึงกำหนดให้ปรับปรุงระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการติดฉลากอาหาร โดยใช้การระบุวันหมดอายุแทนวันสำหรับร้านค้าทั้งหมด ซึ่งจะเป็นอายุที่นานกว่า และไม่มีผลกระทบด้านความปลอดภัยใด ๆ หากผลิตภัณฑ์ได้รับการเก็บรักษาอย่างเหมาะสม

เมื่อเกิดความสับสนและความเข้าใจผิดกันอย่างมากเกี่ยวกับฉลากวันที่ของผลิตภัณฑ์ การที่ผู้บริโภคมีความตระหนักรู้และข้อมูลที่มากขึ้น จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการลดการสูญเสียอาหาร  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่สามารถดำเนินการเชิงรุก เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของผู้บริโภค ในเรื่องการระบุวันที่ที่ผลิตภัณฑ์จะมีคุณภาพดีที่สุด (best-before) ไม่ใช่วันหมดอายุ ตลอดจนการใช้กฎระเบียบติดฉลากมาตรฐานตามที่เกาหลีได้ทำไว้

ชั้นวางสินค้าอัจฉริยะ และการแจ้งเตือนวันหมดอายุสินค้า

ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งได้เริ่มทดลองใช้ชั้นวางสินค้าอัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยลดราคาสินค้าให้สอดคล้องกับวันหมดอายุ และวันที่ที่ผลิตภัณฑ์จะมีคุณภาพดีที่สุด  ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีศักยภาพพอที่จะนำไปใช้งานในบ้านได้ โดยใช้กับตู้เย็นอัจฉริยะที่สามารถแจ้งเตือนผู้บริโภคถึงวันหมดอายุที่ใกล้จะถึง รวมถึงเตือนให้รับประทานผลิตภัณฑ์ก่อนที่จะหมดอายุ

การใช้อายุการเก็บรักษาสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ถูกปรับตามคุณภาพที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์นั้น สามารถใช้เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก และผู้บริโภค เพราะเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมนี้มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว และสามารถเป็นผู้ริเริ่มนำมาใช้ได้ โดยใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจของตน

การเปลี่ยนวิธีการติดฉลากและจัดเก็บผลิตภัณฑ์จะทำให้ผู้ผลิตมีโอกาสจะขึ้นเป็นผู้นำในวงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่ของการยืดอายุการเก็บรักษาให้นานสูงสุด เพื่อลดปริมาณการสูญเสียอาหารที่มากจนน่าตกใจในแต่ละวัน

การรวมโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเข้าไปในสมการ

เมื่อพูดถึงเรื่องอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์ การแก้ไขต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ สินค้าที่เน่าเสียง่ายก็ต้องใช้วิธีแบบหนึ่ง  และแม้แต่สินค้าที่ไม่เน่าเสียง่ายก็อาจแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละล็อตผลิต  ดังนั้น การนำความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) และแมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning – ML) เข้ามาใช้งานร่วมกันในด้านนี้ จะทำให้ผู้ผลิตสามารถเตรียมพร้อมสำหรับสต็อกสินค้าที่มีตัวแปรต่าง ๆ เกี่ยวข้องในกระบวนการได้ดียิ่งขึ้นในทุกขั้นตอนของซัพพลายเชนตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงมือผู้บริโภค รวมถึงกำหนดอายุการเก็บรักษาแบบไดนามิกสำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์

ในทางปฏิบัติ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบสภาพของส่วนผสม และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปลายทาง โดยพิจารณาจากเวลาและปัจจัยแวดล้อมในการจัดเก็บและการขนส่งในทุกระยะ ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการผลิต ตลอดจนการจัดทำโปรไฟล์คุณภาพของวัตถุดิบ และการตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์เมื่อมาถึงร้านค้าปลีก  ซึ่งเหมาะต่อการนำอินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (Internet of Things – IoTs) มาใช้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก IoTs สามารถตรวจสอบตัวแปรสำคัญต่าง ๆ และส่งข้อมูลที่สำคัญนี้กลับเข้าสู่ระบบอัจฉริยะเพื่อการวิเคราะห์ได้  โดยจะช่วยกำหนดวันหมดอายุที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งจะสอดคล้องกับคุณสมบัติเฉพาะของผลิตภัณฑ์ในแต่ละล็อตการผลิต

ประโยชน์สามต่อที่ผู้ผลิตจะได้รับ

นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมต่าง ๆ จากความละเอียด และการมองเห็นของข้อมูลทั่วทั้งซัพพลายเชนอีกด้วย เนื่องจากระบบที่เหมาะสมสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกที่จำเป็น เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผน และให้ทางเลือกในการจัดหาแหล่งผลิตได้ดียิ่งขึ้น เช่น ผู้ผลิตจะได้รับแจ้งถึงส่วนผสมที่ต้องการและเวลาที่จะได้รับส่วนผสมนั้น ทำให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนสูตรเพื่อชดเชยกับความล่าช้า หรือข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นกับคุณภาพของส่วนผสม  ในทำนองเดียวกัน ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ยังช่วยให้ผู้ผลิตสามารถตรวจสอบหาแหล่งผลิตส่วนผสมจากแหล่งอื่นได้หากพบว่าซัพพลายเออร์รายใดรายหนึ่งขาดสินค้า หรือเปลี่ยนไปใช้การขนส่งแบบอื่นแทนหากวิธีขนส่งที่ใช้อยู่มีส่วนทำให้อายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์สั้นลง

ยิ่งไปกว่านั้น การใช้กลยุทธ์ที่ชาญฉลาดและขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ยังสามารถส่งผลเชิงบวกต่อผลกำไรของธุรกิจได้อีกด้วย  ในขณะที่ส่วนผสมที่มีคุณภาพสูงกว่าปกติจะให้อายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ที่นานกว่า ทว่า หากในที่สุดแล้วตัวผลิตภัณฑ์เองยังมีอายุการเก็บรักษาที่จำกัด เราก็ต้องตั้งคำถามถึงประโยชน์ในการจ่ายเพิ่มสำหรับส่วนผสมที่จะต้องมีความเสถียรและอยู่ได้นานขึ้น  เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ธุรกิจจำนวนมากพยายามที่จะลดการสต็อกสินค้าให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในที่สุด การใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์อัจฉริยะจึงเป็นสิ่งสำคัญ และส่งผลช่วยให้ผู้ผลิตได้รับประโยชน์มากกว่าถึงสามต่อ ทั้งในเรื่องการลดการสูญเสียอาหาร ประหยัดต้นทุนทางธุรกิจ และปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด  ธุรกิจที่มองการณ์ไกลในภูมิภาคเอเชียต่างตระหนักดีถึงเรื่องนี้ และนำข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ไปปรับใช้กับซัพพลายเชนทั้งหมดของตน เพื่อปูทางไปสู่การลดปริมาณขยะอาหารทั่วโลก

การสูญเสียอาหารเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในทุกระดับของระบบนิเวศ โดยมีผลสะท้อนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตทั่วทั้งอุตสาหกรรมจึงค้นหาโซลูชันที่ชาญฉลาดและมีความรับผิดชอบ เพื่อจัดการกับหนึ่งในวิกฤตการณ์เร่งด่วนที่สุดที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

Exit mobile version