9krapalm.com

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ระหว่างอาเซียนและจีน ประจำปี 2566 จัดขึ้นที่เขตเฉียนไห่ นครเซินเจิ้น

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ระหว่างอาเซียนและจีน (เฉียนไห่) ประจำปี 2566 (2023 ASEAN-China Greater Bay Area Economic Cooperation (Qianhai) Forum) ได้จัดขึ้นที่เขตเฉียนไห่ นครเซินเจิ้น ระหว่างวันที่ 29-30 กรกฎาคม โดยมีนักการเมืองและนักธุรกิจกว่า 500 คนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เข้าร่วมพิธีเปิดและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในโอกาสนี้ วิสาหกิจ 6 แห่งภายใต้การกำกับดูแลของหอการค้าหลายแห่งในเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ได้บรรลุข้อตกลงด้านการลงทุนและความร่วมมือกับอาเซียน โดยมีการลงนามแสดงเจตจำนงในการลงทุนคิดเป็นมูลค่ารวม 3.5 พันล้านหยวน ส่งผลให้มูลค่าการค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้นเป็น 7 พันล้านหยวน

จีนและอาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกันและกันอยู่แล้ว โดยเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้านอย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างประชาคมจีน-อาเซียนที่มีอนาคตร่วมกันและใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น

ในพิธีเปิดการประชุมครั้งนี้ ได้มีการประกาศจัดตั้งสมาคมหอการค้าเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า และอาเซียน (Greater Bay Area-ASEAN Association of Chambers of Commerce) รวมถึงหุ้นส่วนความร่วมมือคลังสมองอาเซียน-จีน (ASEAN-China Think Tank Cooperation Partnership) พร้อมกับประกาศเปิดตัวโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียนและเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (ASEAN-Greater Bay Area Economic Cooperation Initiative) โดยโครงการดังกล่าวเสนอให้สร้างเวทีเพื่อเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการลงทุน ส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนำความสำเร็จทางเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างสมาคมธุรกิจในภูมิภาค ตลอดจนสนับสนุนการแลกเปลี่ยนบุคลากรมากความสามารถและวัฒนธรรมระหว่างเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า และอาเซียน

คุณชือ จงจวิน (Shi Zhongjun) เลขาธิการศูนย์อาเซียน-จีน (ASEAN-China Centre) กล่าวต้อนรับสู่การประชุมว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาล สมาคมธุรกิจ สถาบันคลังสมอง และตัวแทนภาคธุรกิจจากจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน ได้มารวมตัวกันที่เขตเฉียนไห่เพื่อแลกเปลี่ยนเชิงลึกและหารือกันในการประชุมและกิจกรรมการจับคู่หลายรายการตลอดสองวัน เพื่อให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือและการพัฒนาระหว่างเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า และอาเซียน ทั้งในด้านการเงิน อีคอมเมิร์ซ เศรษฐกิจดิจิทัล วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเทคโนโลยี เป็นต้น

คุณหวัง โซ่วรุ่ย (Wang Shourui) รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเซินเจิ้น กล่าวว่า การประชุมนี้จะช่วยสร้างเวทีที่กว้างขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรองรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนระหว่างอาเซียนกับเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า พร้อมกับส่งเสริมการเจรจาและความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การลงทุนทางเศรษฐกิจและการค้า เป็นต้น ขณะเดียวกัน นครเซินเจิ้นจะแสดงบทบาทอย่างเต็มที่ในฐานะจุดเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างจีนกับอาเซียน ตลอดจนคว้าโอกาสจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ไปจนถึงกระชับความร่วมมืออย่างรอบด้านกับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งในด้านธุรกิจ การค้า การเงิน เมืองอัจฉริยะ ยานพาหนะพลังงานใหม่ และอื่น ๆ อีกทั้งยังส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ารวมถึงการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนในเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า และอาเซียน เพื่อสร้างและแบ่งปันบ้านที่เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

เอกอัครราชทูตและผู้แทนรัฐบาลจากประเทศมาเลเซีย ไทย บรูไน อินโดนีเซีย เมียนมา และฟิลิปปินส์ ได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่ผู้แทนจากสมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมจีนแห่งมาเลเซีย (Associated Chinese Chambers of Commerce and Industry of Malaysia) สมาคมจีนศึกษาแห่งฟิลิปปินส์ (Philippine Association for Chinese Studies) และบริษัท จีอาร์ซี อินโดนีเซีย คอนสตรักชัน แมททีเรียลส์ กรุ๊ป (GRC Indonesia Construction Materials Group) ได้ยืนยันว่าเขตเฉียนไห่ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมครั้งนี้ จะช่วยสร้างตลาดที่กว้างขวางและโอกาสอันไร้ขีดจำกัดสำหรับองค์กรต่าง ๆ โดยผู้แทนเหล่านี้ต่างรอคอยที่จะมายังเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า และเขตเฉียนไห่ เพื่อลงทุน พัฒนา และสร้างอนาคตที่ดีกว่าร่วมกัน

ทั้งนี้ เขตเฉียนไห่จะใช้โอกาสจากการประชุมครั้งนี้อย่างเต็มที่ ไม่ละความพยายามในการสร้างศูนย์กลางสำหรับเปิดประตูสู่โลกกว้าง เร่งสร้างเวทีรองรับความร่วมมือและการเจรจาทางเศรษฐกิจ กระชับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการลงทุน นำความสำเร็จทางเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ารวมถึงการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนในเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า และอาเซียน

ที่มา: การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ระหว่างอาเซียนและจีน (เฉียนไห่) ประจำปี 2566

Exit mobile version