9krapalm.com

มณฑลฝูเจี้ยนส่งคณะผู้แทนเยือนอินโดนีเซีย พร้อมแลกเปลี่ยนและส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 8 ถึง 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา โจว จู่อี้ (Zhou Zuyi) เลขาธิการคณะกรรมการมณฑลฝูเจี้ยนและประธานคณะกรรมการประจำสภาประชาชนมณฑลฝูเจี้ยน ได้นำคณะผู้แทนจากมณฑลฝูเจี้ยนไปเยือนอินโดนีเซีย โดยในการเดินทางเยือนครั้งนี้ ทางคณะผู้แทนฯ ได้ดำเนินกิจกรรมมากมาย เพื่อส่งเสริมและแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรม พร้อมกระชับมิตรภาพระหว่างมณฑลฝูเจี้ยนกับอินโดนีเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคระหว่างทั้งสองฝ่าย ตามรายงานของสำนักงานสารสนเทศมณฑลฝูเจี้ยน

อินโดนีเซียเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของฝูเจี้ยนในอาเซียน โดยได้มีการจัดการประชุมส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-อินโดนีเซีย “Two Countries, Twin Parks” หรือ TCTP ขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา และภายในการประชุมดังกล่าวมีการลงนามรวม 21 โครงการ รวมถึงกองทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน TCTP จีน-อินโดนีเซีย คิดเป็นวงเงินตามสัญญาสูงถึง 4.32 หมื่นล้านหยวน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 มณฑลฝูเจี้ยนได้เสนอโครงการริเริ่ม TCTP จีน-อินโดนีเซีย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในแต่ละประเทศ ซึ่งจะเข้ามาวางรากฐานในการสำรวจกลไกความร่วมมือที่มีอุตสาหกรรม การเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายพิเศษรองรับ ผสานรวมความคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีน เข้ากับยุทธศาสตร์ศูนย์กลางการเดินเรือสากล (Global Maritime Fulcrum) ของอินโดนีเซีย

นิคมอุตสาหกรรมฝั่งจีนตั้งอยู่ที่เขตการลงทุนฝูโจว หยวนหง (Fuzhou Yuanhong Investment Zone) โดยมีพื้นที่ 60 ตารางกิโลเมตร ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมฝั่งอินโดนีเซียประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมบันตัน (Bintan) นิคมอุตสาหกรรมเอวิอาร์นา (Aviarna) และนิคมอุตสาหกรรมบาตัง (Batang) โดยมีพื้นที่ 87.6 ตารางกิโลเมตร

ฝูเจี้ยนและอินโดนีเซียมีรากฐานทางประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้ง โดยในสมัยก่อนนั้น ฝูเจี้ยนเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเล ในขณะที่อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางสำคัญตลอดเส้นทางดังกล่าว โดยชาวฝูเจี้ยนกลุ่มแรก ๆ ได้มาตั้งถิ่นฐานที่นี่และมีจำนวนมากที่สุด ปัจจุบัน การเชื่อมต่อทางทะเลที่มีมายาวนานเช่นนี้ ทำให้ฝูเจี้ยนและอินโดนีเซียสร้างมิตรภาพและวางแผนใหม่ ๆ เพื่อให้เจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน ทั้งสองฝ่ายมีปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ทั้งยังมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และศักยภาพในการเติบโตที่แข็งแกร่งกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ที่มณฑลฝูเจี้ยนและจังหวัดชวากลางได้กระชับสายสัมพันธ์กันในปี 2546

ที่มา: สำนักงานสารสนเทศมณฑลฝูเจี้ยน

Exit mobile version